นักการตลาดทราบดีว่าคอนเทนต์ (Content) ได้กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่สามารถดึงลูกค้าให้มีส่วนร่วมกับแบรนด์ได้ แต่บริษัทเองก็ยังสับสนว่าคอนเทนต์หรือเนื้อหาประเภทไหนเหรอที่สามารถจะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้ แน่นอนว่า บริษัทก็คาดหวังที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากกลยุทธ์คอนเทนต์ ดังนั้น เราจะเห็นการสร้างคอนเทนต์ที่แฝงไปด้วยข้อเสนอส่งเสริมการขาย เช่น สิทธิพิเศษ โปรโมชั่น คูปองส่วนลด เพื่อที่จะหารายได้จากคอนเทนต์ที่เราส่งไปยังลูกค้า ทั้งผ่านอีเมล์ หน้าจอคอมพิวเตอร์ โมบาย เป็นต้น แต่ถ้านำเสนอข้อเสนอส่งเสริมการขายเพื่อสร้างรายได้มากเกินไป ลูกค้าก็อาจจะไม่ได้รับความประทับใจหรือประสบการณ์ที่ดีจากแบรนด์ก็ได้
แล้วเราจะสร้างสมดุลระหว่างคอนเทนต์กับข้อเสนอส่งเสริมการขายได้อย่างไร?
จากการศึกษาของ emnos ในปี พ.ศ. 2558 พบว่าร้อยละ 64 ของผู้บริโภคต้องการคอนเทนต์มากกว่าข้อเสนอส่งเสริมการขายจากร้านค้าปลีก และร้อยละ 83 ของผู้บริโภครู้สึกว่ายังไม่ได้รับคอนเทนต์ที่ดีเพียงพอที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง โดยเฉพาะการพัฒนาไลฟ์สไตล์ที่ดีขึ้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคไม่ได้สนใจกับข้อเสนอส่งเสริมการขายเพียงอย่างเดียวหรือมากเกินไป บริษัทจะต้องนำเสนอคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคน่าจะดีกว่า ตัวอย่างเช่น แนะนำสูตรอาหารเพื่อสุขภาพ ที่อาจจะมีส่วนผสมมาจากร้านของคุณ เป็นต้น ดีกว่านำเสนอด้วยโปรโมชั่นของส่วนผสมอาหาร โดยไม่บอกว่าส่วนผสมอาหารเหล่านั้นจะมีประโยชน์อย่างไรหรือไว้ใช้ทำอะไรบ้าง
จริงแล้วก็ไม่ต่างกับการแชร์คอนเทนต์ในสื่อสังคมออนไลน์ที่ผู้บริโภคชอบแชร์ประสบการณ์ที่ได้รับจากแบรนด์ เช่น การใช้งาน ข้อดี ข้อเสีย เป็นต้น มากกว่าการแชร์เพียงแค่สิทธิพิเศษที่ได้รับ ผู้บริโภคจะชอบอ่านและแชร์คอนเทนต์ของเพื่อนที่มีประโยชน์ต่อตัวเองและต่อเพื่อนอื่นๆ ด้วย
อีกหนึ่งการศึกษาของ ClickFox พบว่าร้อยละ 32 ของผู้บริโภคยินดีที่จะให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับแบรนด์ที่พวกเขาจงรักภักดีด้วย ดังนั้น บริษัทจะต้องดีใจเป็นอย่างยิ่งกับข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้านะ ยิ่งคุณได้ข้อมูลของพวกเขามากเท่าไร คุณก็จะสามารถนำเสนอคอนเทนต์และข้อเสนอส่งเสริมการขายได้ดียิ่งขึ้น ได้ใกล้เคียงกับความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจะให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับคุณก็ต่อเมือ คุณมีความจริงใจที่ใช้ข้อมูลนั้น ไม่ได้นำข้อมูลเหล่านั้นให้กับบุคคลภายนอกและมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ป้องกันการขโมยข้อมูลเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น นักการตลาดจะต้องผสมกลมกลืนข้อเสนอส่งเสริมการขายเข้ากับคอนเทนต์ให้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแนบเนียน ตัวอย่าง ขนมโอริโอ้ที่เป็นแบรนด์เก่าแก่มายาวนานก็มีการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ แปลกๆ ในการรับประทานโอริโอ้ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าไม่ให้รู้สึกเบื่อที่จะรับประทานโอริโอ้ในแบบต่างๆ ตามวาระ และที่สำคัญ ผู้บริโภคก็ยินดีที่จะรับคอนเทนต์เหล่านี้ด้วย
ลองดูยุทธวิธีต่อไปนี้ที่จะสร้างสมดุลให้กับคอนเทนต์ของคุณให้ดูไม่เสนอขายมากจนเกินไป
และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคกับแบรนด์ของคุณได้อีกด้วย
- คอนเทนต์ต้องมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา ทำให้พวกเขาเข้าใจในคอนเทนต์นั้นและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
- คอนเทนต์จะต้องถูกใจ เมือผู้บริโภคได้อ่านคอนเทนต์แล้วจะต้องบอกว่า “ใช่” เลย มันคือสิ่งที่ฉันต้องการ ดังนั้น คอนเทนต์ที่ดีจะต้อง ถูกคน ถูกใจ ถูกเวลา
- คอนเทนต์จะต้องถูกส่งให้ถูกช่องทางด้วย ผู้บริโภคอาจจะต้องการรับทางอีเมล์เท่านั้น บางรายต้องการคอนเทนต์ด้วยข้อความสั้นก็ได้ คุณจะต้องรู้ว่าพวกเขาต้องการคอนเทนต์ทางไหนถึงจะเข้าถึงพวกเขาได้ดีที่สุด
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะแปลงคอนเทนต์ให้เป็นรายได้ ผู้บริโภคต้องการคอนเทนต์ บริษัทก็ต้องการรายได้ ดังนั้น การสร้างสมดุลของคอนเทนต์กับข้อเสนอส่งเสริมการขายจึงเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์คอนเทนต์
นาวิก นำเสียง
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด
navik@sundae.co.th