ลุงกลางเล่าเรื่อง “AI Marketing อาวุธลับเสริมทัพการตลาดยุคใหม่”

AI Marketing นาวิก นำเสียง

วันนี้ (29 มิถุนายน 2566) คุณลุงกลางได้รับเกรียติจากอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ให้มาร่วมเป็นวิทยากรงานสัมมนา… แต่สุดท้ายเปลี่ยนมาเป็นเสวนา ให้มาเล่าเรื่อง… AI Marketing อาวุธลับเสริมทัพการตลาดยุคใหม่ เราก็เล่าจาก ยุคนี้อะไรๆ ก็ต้อง Customer Experience แล้วมาถึงข้อมูล (Data) มหาศาล แล้วลากมายัง Machine Learning ไปถึง AI พร้อมทั้งผลกระทบ

จนสุดท้ายก็ AI Marketing 🙂 สนุกสนานกันไปครับ ขอบคุณ สวทช ที่ให้โอกาสร่วมงานด้วยครับ

ตัดต่อวิดีโอของงานบางส่วนที่ลุงกลางเล่านะครับ 🙂

พร้อมบรรยากาศภายในงานเสาวนา

AI เทคโนโลยีอัจฉริยะ กับการขายและการตลาด

AI (Artificial Intelligence) เป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทอย่างมากต่อธุรกิจ จนกลายเป็น “The Must” ไปแล้ว และก็มีความสำคัญสูงสุดในการขายในปัจจุบัน เนื่องจาก AI ช่วยให้ผู้ขายสามารถวิเคราะห์และปรับปรุงประสิทธิภาพการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน

มาพร้อมวิทยากรคู่ 🙂

คุณนาวิก นำเสียง

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด

คุณนาวิก ในฐานะของ CEO ของบริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชั่นทางธุรกิจที่มุ่งสร้างประสบการณ์ของลูกค้าที่ดี มีความชำนาญในธุรกิจ CRM/CX, ERP และดิจิตอลมากกว่า 15 ปี นอกจากนี้ คุณนาวิกยังเป็นที่ปรึกษา นักบรรยายและนักเขียนให้หน่วยงานต่างๆ ในหัวข้อ Digital Transformation อีกด้วย

คุณพีระยุทธ ย่องซื่อ

ที่ปรึกษาอาวุโส ด้านเทคโนโลยีและแอปพลิเคชั่นของ บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด

ประสบการณ์มากกว่า 20 ปีในฐานะที่ปรึกษาในการวางระบบแอปพลิเคชั่นทางธุรกิจทั้งระบบ CRM และ ERP ให้กับองค์กรต่างๆ จนปัจจุบัน

AI เทคโนโลยีอัจฉริยะกับการขายและการตลาด

The Social Dilemma ถอดบทเรียนสื่อสังคมออนไลน์ สู่ภัยอันตรายใกล้ตัว

Social Dilemma

The Social Dilemma เป็นภาพยนตร์ Documentary ของ Netflix ที่ร้อนแรงมากในช่วงนี้ (กันยายน 2563) ภาพยนตร์เล่าถึงความน่ากลัวของสื่อสังคมออนไลน์ โดยมุ่งโจมตีไปที่ Facebook, Twitter, Instagram, Youtube และอื่นๆ ผู้ให้บริการเหล่านี้ใช้ข้อมูลของเรา เพื่อสร้างรายได้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันได้สร้างพฤติกรรมหลายอย่างต่อเด็กและเยาวชนของเรา ที่เปลี่ยนแปลงไปเมือเทียบกับยุคก่อนสื่อสังคมออนไลน์

เรามาดูบทเรียนที่ได้จากภาพยนตร์ The Social Dilemma กัน

1. If you are not paying for the product, you are the product.

ถ้าคุณใช้บริการ “ฟรี” ก็ขอให้คิดเสมอว่า คุณคือ “สินค้า” นั่นเอง

เมื่อผู้ให้บริการออนไลน์ไม่ได้รายได้จากผู้ใช้ ดังนั้นผู้ให้บริการก็ต้องไปหารายได้จากแหล่งอื่น นั่นก็คือ “โฆษณา” แล้วผู้จ่ายค่าโฆษณาให้กับผู้ให้บริการก็ต้องการความคุ้มค่าและเข้าถึงผู้ใช้ให้มากที่สุด โดยดูจากพฤติกรรมของผู้ใช้นั่นเอง

ดังนั้น ไม่มีของฟรีจริงๆ ในโลกนะ คุณต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไป ในที่นี้ก็คือข้อมูลของคุณนั่นเอง

“I hate the term ‘users’ now,” Parler CEO John Matze told Fox News.

“They made a good point in the film, which was that users are like drug addicts… users are people who are addicted to something. The only two people that call their customers users are drug dealers and social media,” Matze said. “So we are going to be redefining the term ‘user’ anywhere we have it on our app to be ‘people’ or ‘citizens.’”

2. Social Media is Drug.

มีเพียง 2 ธุรกิจที่เรียกลูกค้าว่า “ผู้ใช้” หรือ “User” นั่นคือธุรกิจ Social Media และพ่อค้ายาเสพติด (Drug dealer) จึงไม่แปลกเลยที่จะบอกได้ว่า สื่อสังคมออนไลน์ก็คือยาเสพติด ที่ผู้ให้บริการพยายามให้ลูกค้าหรือผู้ใช้ติด (Addict) แล้วไม่หนีไปไหน เหมือนกับพวกติดยาเลย

เราอยู่ในยุคที่เด็กวัยรุ่นออกเดทลดลงและเด็กพบปะผู้คนลดลง เด็กยุค Gen Z ใช้เวลากับมือถือมากๆ เหมือนเสพติดยาอยู่

3. ปุ่ม Like คือฆาตกร

Justin Rosenstein ผู้ร่วมประดิษฐ์ปุ่ม Like ขณะที่ทำงานให้กับ Facebook เล่าว่า เค้าไม่คิดว่าปุ่ม Like จะทำให้สื่อสังคมออนไลน์เป็นที่นิยม และในขณะเดียวกัน มันทำให้คนรู้สึกหดหู่ด้วย โดยเฉพาะกับเด็ก

เด็กจะเปรียบเทียบจำนวน Like ของโพสต์ตัวเองกับเพื่อนหรือกับโพสต์ที่ผ่านมา ส่งให้ผลในทางลบให้เด็กเกิดอาการหดหู่ จนมีหลายเคสถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาสุขภาพจิตกัน

สถิติเด็กวัยรุ่นเข้าโรงพยาบาลบำบัดจิตจากการทำร้ายตัวเองสูงขึ้น และรวมไปถึงสถิติการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเด็ก 10-14 ปี (Pre-teen) ที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น เป็นแนวโน้มที่น่ากลัวมาก แล้วทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังกำเนิดสื่อสังคมออนไลน์

4. โฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์ไม่ใช่แค่เพลตฟอร์มวางโฆษณาธรรมดาอีกต่อไป

The Social Dilemma ให้แสดงให้เห็นว่าข้อมูลของผู้ใช้มีความสำคัญขนาดไหน ยิ่งได้ข้อมูลมากเท่าไร ผู้ให้บริการก็สามารถคาดการณ์พฤติกรรมของผู้ใช้ได้มากขึ้น

โฆษณาไม่ได้ถูกส่งไปหากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเท่านั้น แต่เฟลตฟอร์มจะใช้ AI (Aritificial Intelligent) สร้างโมเดลของผู้ใช้ ด้วยการทดลอง A/B Testing แล้วเปรียบเทียบ ผู้ใช้ไหนที่ถูกชักจูงได้ตามการทดสองก็จะเป็นผู้ชนะและนำไปใช้เป็นโมเดลกับผู้ใช้อื่นๆ

การทดลองนี้จะมีตั้งแต่การส่งเนื้อหาข้อมูล วิดีโอและอื่นๆ เพื่อสร้างความดึงดูด หรือแม้กระทั่งการ Tag ก็ตาม

ทุกครั้งที่เรา Scroll down ผู้ให้บริการจะใช้ Algorithm ประมวลผลว่าวิดีโอหรือเนื้อหาถัดไปที่คุณจะคลิก มันไม่ใช่ความบังเอิญหรือแสดงเนื้อหาเฉพาะกลุ่มแล้ว มันเป็นเนื้อหาสำหรับคุณคนเดียวเลย นี่ยังไม่รวมดูนานแค่ไหน ดูซ้ำ อะไรอีกมากมาย

5. ข่าวปลอม (Fake News) ถูกแชร์มากกว่า ข่าวจริง (True News) ถึง 6 เท่า

หากสถิติเป็นอย่างนี้แล้ว ผู้ให้บริการรายใดอยากที่จะจัดการกับข่าวปลอมล่ะ

ภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่าเมือใดที่คุณได้เสพติดเนื้อหานั้นแล้ว เช่น ข่าวใดข่าวหนึ่งซึ่งจะจริงหรือปลอมก็ไม่รู้ แต่ส่วนใหญ่จะปลอมหรือลำเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง สื่อสังคมออนไลน์ก็จะป้อนเนื้อหาในทำนองนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนคุณมโนว่ามันคือความจริง

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตรงข้ามกับคุณก็ดูเนื้อหาอีกชุดหนึ่ง

แล้วนี่จึงเป็นปัญหาให้เกิดความแตกแยกทางสังคม เพราะ Algorithm ที่มันป้อนให้กับพวกเราไม่สามารถนำเสนออะไรที่แบบทั้งสองฝ่ายได้

เด็กที่คิดว่าตัวเองเป็นโรคทางจิตหรือมีพฤติกรรมแบบใด เมือค้นหาข้อมูลเหล่านั้น เค้าก็จะคิดว่าเค้าเป็นแบบนั้น ทั้งๆ ที่เด็กอาจจะไม่ใช่แบบนั้นก็ได้

6. Engagement, Growth & Monetary (Advertising)

มูลค่าโฆษณาออนไลน์เป็นเม็ดเงินมหาศาลที่ผู้ให้บริการกระโจนเข้าด้วยการสร้างจำนวนผู้ใช้จำนวนมากและให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมมากขึ้น มีการแบ่งกลยุทธ์เป็น 3 ส่วน คือ

Engagement – การมีส่วนร่วม เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ เช่น Like, Share, Comment, Post เป็นต้น ยิ่งมีส่วนร่วมมากเท่าไร ผู้ให้บริการก็จะรู้จักผู้ใช้งานมากขึ้น

Growth – การเติบโต เป็นการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน ตั้งแต่การให้คุณกลับมาใช้บ่อยๆ การเชื้อเชิญเพื่อน เป็นต้น

Monetary (Advertising) – รายได้ เป็นการวัดรายได้ที่ได้จากผู้ใช้ ในภาพยนตร์นี้จะเน้นที่รายได้จากโฆษณาเป็นหลัก เราสามารถวัดที่รายได้รวม รายได้ต่อผู้ใช้งาน เป็นต้น

ในแง่ธุรกิจและการตลาด ผมแนะนำให้คุณมีผู้รับผิดชอบแต่ละส่วนแยกกันไปเลยครับ เช่น Head of Engement, Head of Growth และ Head of Advertising เป็นต้น

โดยสรุป ผมก็อยากให้ทุกคนหาโอกาสชม The Social Dilemma ตามชื่อเรื่อง มันคือทางสองแพร่ง ที่สื่อสังคมออนไลน์มีทั้งข้อดีและภัยอันตรา อย่างน้อยเราจะเข้าใจมันและป้องกันไม่ให้เกิดกับครอบครัวของเราได้

Omnichannel ทางรอดของธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ | รายการ 101dotNET วันที่ 15 ส.ค. 2563

Omnichannel Marketing

รายการ 101dotNET สถานีวิทยุ FM101ในหัวข้อ Omnichannel ทางรอดของธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ ร่วมรายการโดยคุณนาวิก นำเสียง CEO บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด ดำเนินรายการโดยคุณพันธุ์ทิตต์ สิรภพธาดา และคุณภานุกร พสุชัยสกุล

สถานีวิทยุ FM101รายการวิทยุที่นำเสนอสาระความรู้ในแวดวงเทคโนโลยีดิจิทัล คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ไอโอที ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/101dotnet

เพิ่มยอดขายด้วยหน้า Landing Page

            หลายคนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับหน้า Landing Page หรือ หน้าลงจอด สักเท่าไร คุณอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหน้า Landing Page คืออะไร แล้วสามารถเพิ่มยอดขายให้กับคุณได้อย่างไร?

            หน้า Landing Page คือหน้าแรกที่แสดงผล หลังจากที่ผู้เข้าชมคลิก URL ที่ผ่านมาจากโฆษณาออนไลน์ ทั้งแบนเนอร์หรือข้อความ ผ่านทางบล็อกที่คุณเขียน หรือ ผ่านทางสื่อออฟไลน์ด้วยก็ได้ เนื่องจากมันเป็นหน้าแรกที่แสดงผล มันจึงมีความสำคัญอย่างมาก มันเป็นโอกาสเดียวที่คุณจะสามารถขายของหรือแนะนำสินค้า บริการหรือโปรโมชั่นของคุณ อย่างน้อย ผู้เข้าชมก็ต้องมีความสนใจในสินค้า บริการ หรือโปรโมชั่นของคุณอยู่แล้ว พวกเขาถึงได้คลิกโฆษณานั่นมายังหน้า Landing Page ของคุณ

            ดังนั้น หน้า Landing Page จึงจะต้องมีความพิเศษกว่าหน้าอื่นๆ และไม่แนะนำให้ใช้หน้า Home Page เป็นหน้า Landing Page ด้วย เพราะหน้า Home Page จะมีเนื้อหามากมาย อาจจะทำให้ผู้เข้าชมสับสนได้

            การเพิ่มยอดขายด้วยหน้า Landing Page จะต้องมีกลยุทธ์พิเศษที่จะเปลี่ยนจากความสนใจมาเป็นลูกค้าของคุณได้ให้ หน้า Landing Page ที่ดีควรจะมีคุณลักษณะดังนี้

  1. เนื้อหาจะต้องสัมพันธ์กับโฆษณา ผู้เข้าชมมาหน้า Landing Page เพราะว่าสนใจโฆษณาของคุณ ถ้าหน้า Landing Page ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาเดียวกับที่โฆษณา พวกเขาก็จะผิดหวังแล้วคุณก็จะเสียโอกาสการขายนั้นทันที ถึงแม้ว่าคุณอาจจะมีสินค้าหรือบริการอื่นๆ ที่ดีกว่า แต่พวกเขาก็อาจจะไม่สนใจอยู่ดี เหมือนเราไปหลอกให้คลิกมายังเว็บไซต์ของคุณ
  • เนื้อหาต้องโดน ข้อนี้ก็สำคัญอย่างมาก เนื้อหาในโฆษณาอาจจะมีจำกัด ดังนั้น คุณจะมีพื้นที่อีกมากในหน้า Landing Page จะบอกสิทธิประโยชน์ต่างๆ เนื้อหาที่โดนได้แก่
  • ผลประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ เขียนให้ชัดๆ แต่ไม่ต้องเยอะมาก เพราะลูกค้าไม่ชอบอ่าน รูปภาพจะช่วยให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น
  • เนื้อหาที่กระตุ้นให้อยากซื้อ หลายครั้งที่การตัดสินใจซื้อมักจบด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล คุณจะต้องสร้างเนื้อหาที่กระตุ้นอารมณ์ของความอยากซื้อ เช่น ความทันสมัยที่พลาดไม่ได้ ความกลัวที่จะทำให้เสียโอกาส หรืออาจจะเป็นคำบอกเล่าจากลูกค้าที่เคยใช้สินค้าบริการมาก่อน เป็นต้น
  • โปรโมชั่นแรงๆ โปรโมชั่นก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะแปลงผู้เข้าชมเป็นลูกค้า คุณอาจจะต้องใช้โปรโมชั่นแรงๆ สำหรับลูกค้าใหม่ของคุณ ทั้ง ลด แลก แจก แถม
  • สุดท้าย รูปภาพโดนๆ บางทีคำอธิบายเป็นร้อยเป็นพันคำอาจจะไม่เท่ากับรูปภาพเพียงภาพเดียว ควรจะเลือกรูปภาพที่โดน เมือลูกค้าเห็นแล้วอยากจะซื้อสินค้าของคุณทันที
  • ปุ่ม Call-to-Action จะต้องเด่นและใหญ่ ปุ่ม Call-to-Action หมายถึงปุ่มหรือลิงค์ที่ต้องการให้ลูกค้าคลิกหลังจากที่อ่านละเอียดแล้วทั้งหมด บางครั้งอาจจะหมายถึงหมายเลขโทรศัพท์ให้โทรก็ได้ ปุ่ม Call-to-Action นี้จะต้องใหญ่และเด่น อาจจะต่อท้ายจากรายละเอียดและมีมากกว่าหนึ่งจุดก็ได้ คุณควรจะใช้คำที่จูงใจให้อยากคลิกปุ่ม เช่น ฟรี ขอรับสิทธิพิเศษ เป็นต้น หรือ เร่งรัดด้วยเวลา เช่น เดี๋ยวนี้ สมัครด่วนจำนวนจำกัด เป็นต้น
  • สร้างความน่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่ ลูกค้ามายังหน้า Landing Page ด้วยโฆษณาออนไลน์หรือบล็อก บางทีเค้าก็ไม่รู้จักบริษัทของคุณด้วยซ้ำ ดังนั้น คุณจะต้องสามารถความน่าเชื่อถือให้พวกเขาเห็น เช่น ระบุชื่อบริษัทที่ชัดเจน สถานที่ตั้ง เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ เป็นต้น ควรใช้ URL ที่เป็นโดเมนของบริษัทก็จะสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่า การใช้โลโก้ของคู่ค้าหรือประกาศนีย์บัตรก็จะช่วยสร้างความมั่นใจในสินค้าได้ ธุรกรรมออนไลน์ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับบ้านเรา ลูกค้าอาจจะมีความกังวลว่าจะถูกหลอกได้
  • ออกแบบให้ Keep it Simple ให้หน้า Landing Page ดูแล้วสบายตา ลูกค้าจะไม่ชอบอ่านข้อความยาวๆ การนำเสนอด้วยรูปภาพและวิดีโอจะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญ เน้น Navigation ที่ดีและรองรับทั้งหน้าจอ Desktop และ Mobile ด้วย
  • เพิ่มโอกาสในการแชร์ คุณอาจจะเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าที่สนใจบอกต่อผ่านสังคมออนไลน์ ด้วยการเพิ่มปุ่มแชร์ อาจจะใช้ของ AddThis หรือ ShareThis ก็ได้ แค่นี้แคมเปญของคุณก็จะกระจายให้รู้จักมากยิ่งขึ้น
  • สุดท้าย ความเร็วในการโหลดหน้า Landing Page คุณจะต้องทดสอบหน้า Landing Page ว่าสามารถเข้าถึงหรือโหลดทั้งหน้าด้วยความเร็วที่เร็วพอหรือไม่? บางครั้งคุณอาจจะใช้รูปภาพที่ใหญ่เกินไป โฮสติ้งที่ไม่ดี ซึ่งจะทำให้คุณเสียโอกาสและเสียเงินโฆษณาไปเปล่าๆ ลองทดสอบด้วยเครื่องมือ PageSpeed Insights ของ Google (https://developers.google.com/speed/pagespeed/insights/) ที่จะให้คะแนนความเร็วและก็แนะนำปรับปรุงให้เร็วยิ่งขึ้น

            จากนี้ไปหน้า Landing Page ของคุณจะทำเงินให้คุณมากยิ่งขึ้น จะทำให้คุณประหยัดงบโฆษณาออนไลน์ได้อีกมาก

นาวิก นำเสียง

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด

navik@sundae.co.th

การตลาดที่ผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์

            การได้มาซึ่งลูกค้าหรือการแปลงแปลงจากผู้สนใจเป็นลูกค้า (Conversion) ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการตลาด บ่อยครั้งที่นักการตลาดมักจะพิจารณากลยุทธ์ไปในข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป เช่น มุ่งเน้นการตลาดออนไลน์อย่างเดียวโดยลืมไปว่าลูกค้าเดียวกันนี้อาจจะติดต่อธุรกิจผ่านทางออฟไลน์ด้วยก็ได้ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าไม่ได้รับประสบการณ์ที่ดีจากธุรกิจ

            ผมขอนิยามง่ายๆ เกี่ยวกับการออนไลน์และออฟไลน์นิดเพื่อความเข้าใจร่วมกัน

            “ออนไลน์” ในที่นี้หมายถึงกิจกรรมหรือสื่อการตลาดที่ธุรกิจสื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทางสมัยใหม่ที่เรียกว่า สื่อออนไลน์ (Online) ได้แก่ เว็บไซต์ โมบายแอฟ สื่อสังคมออนไลน์ ไลน์ เป็นต้น แน่นอนว่า ออนไลน์ได้มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการตลาดวันนี้ เพราะความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าอย่างไร้พรมแดน การสื่อสารกับลูกค้าแบบ 1-ต่อ-1 การวัดผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำ ต้นทุนที่ไม่สูง และอีกมากเมือเทียบกับออฟไลน์

            “ออฟไลน์” หมายถึงกิจกรรมหรือสื่อการตลาดแบบดั่งเดิม โดยส่วนมากแล้วจะเป็นการตลาดแบบวงกว้าง ไม่จงเจาะ อาทิ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ งานอีเวนต์ เป็นต้น แต่ก็มีบ้างที่เป็นกิจกรรมแบบการตลาดเจาะจง เช่น พนักงานขาย งานอีเวนต์เฉพาะกลุ่มลูกค้า ไดเร็คเมล์ เป็นต้น การตลาดออฟไลน์จะใช้ต้นทุนที่สูงและได้รับผลตอบรับที่น้อยกว่าการตลาดออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่เสมอไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการนำการตลาดออฟไลน์ไปใช้อย่างเหมาะสมมากกว่า

            หัวใจสำคัญของการตลาดในวันนี้คือการผสมผสานการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน มองให้ทั้งสองเป็นหนึ่งเดียว เป้าหมายเพื่อให้ได้ลูกค้ามากที่สุดหรือรายได้สูงสุด

            แนวคิดใหม่ของกลยุทธ์ธุรกิจวันนี้ บริษัทจะต้องเริ่มบริการกับลูกค้าตั้งแต่กระบวนตัดสินใจซื้อของลูกค้า ไม่ใช่ต้องเป็นลูกค้าเสียก่อนถึงจะให้บริการได้ จากงานวิจัยของ Forrester ในปี พ.ศ.​2559 พบว่า ร้อยละ 53% ของผู้บริโภคจะเปลี่ยนใจหรือยกเลิกการซื้อถ้าไม่ได้รับบริการหรือได้รับคำตอบที่ดีจากแบรนด์ ดังนั้น หน่วยบริการลูกค้าจะต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าเสียก่อน มิฉะนั้น ธุรกิจอาจจะขายสินค้าหรือบริการไม่ได้เลย

            เหล่านี้คือความจริงที่ธุรกิจควรจะนำมาพิจารณาผสมผสานระหว่างการตลาดออนไลน์และออฟไลน์

#1 ผู้บริโภคใช้อุปกรณ์สื่อสารมากกว่าหนึ่งอุปกรณ์ในการตัดสินใจซื้อ

            จากผลการวิจัยของ Google พบว่าร้อยละ 90 ของผู้บริโภคจะใช้อุปกรณ์สื่อสารมากกว่าหนึ่งหน้าจอ เช่น สมาร์ทโฟน แท็ปแล็ต คอมพิวเตอร์เดสท็อป ทีวี เป็นต้น ในแต่ละวันของกิจกรรมการซื้อสินค้า ไม่ว่าเป็นการค้นหาโรงแรม ช็อปปิ้งออนไลน์ เป็นต้น

            นักการตลาดจะต้องสื่อสารไปยังผู้บริโภคและปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคที่สามารถรองรับหลากหลายอุปกรณ์ให้ได้ เช่น โฆษณาบน Facebook ที่รองรับทั้งสมาร์ทโฟนและคอมพวิเตอร์เดสท็อป และโฆษณาเดียวกันนี้ให้ปรากฏในสื่อวิดีโอทั้ง Youtube และ Facebook ด้วย

            ด้วยการครอบคลุมพื้นที่หน้าจอและอุปกรณ์นี้ก็จะทำให้สื่อของเราเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โอกาสที่จะแปลงผู้สนใจเป็นลูกค้าก็มีมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

#2 อย่าลืม Click-to-call

            Click-to-call คือปุ่มหรือลิงค์ที่ให้ลูกค้าสามารถติดต่อเราได้ด้วยการโทรศัพท์ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคยังถนัดที่จะคุยมากกว่าพิมพ์ ดังนั้น ช่องทางสื่อสารแบบเดิมคือการสนทนาทางโทรศัพท์ด้วยคอลล์เซ็นเตอร์ก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพียงแต่เราสื่อสารไปยังผู้บริโภคออนไลน์ให้ทราบว่าพวกเขาสามารถคุยกับคอลล์เซ็นเตอร์ได้อย่างรวดเร็วด้วยปุ่ม Click-to-Call นะ ปุ่มนี้สามารถใช้กับสื่อโฆษณาออนไลน์ได้ทั้งหมดเช่นกัน

#3 คิดถึงการตลาดด้วยพิกัดพื้นที่

            เนื่องจากผู้บริโภคค้นหาสินค้าและบริการผ่านสมาร์ทโฟนเป็นส่วนใหญ่ การใช้การตลาดด้วยพิกัดพื้นที่ (Location based marketing) ก็มีความสำคัญไม่น้อย เมือไรผู้บริโภคค้นหาสินค้าและบริการในพื้นที่บริการของคุณ คุณก็สามารถสื่อสารไปยังผู้บริโภคให้มาใช้บริการได้ ซึ่งแน่นอนว่าลูกค้าต้องมีความประทับใจในความสะดวกเป็นอย่างมาก

            การสื่อสารด้วยพิกัดพื้นที่ก็สามารถทำได้ง่ายด้วยความสามารถของสื่อโฆษณาของ Facebook และ GDN โดยที่คุณไม่ต้องเป็นกูรูก็สามารถทำเองได้เช่นกัน

#4 ต้องผสมสสานอย่างแท้จริง

            การผสมผสานระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์อย่างแท้จริงไม่ใช่เรื่องง่าย คุณอาจจะต้องเริ่มต้นที่กลยุทธ์ให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยี CRM ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าได้อย่าง 360 องศาไม่ว่าลูกค้าจะปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจในช่องทางใดๆ

มันจะวิเศษมาก ถ้าพนักงานขายสามารถทราบได้ว่าลูกค้าที่เดินเข้ามาในร้านกำลังสนใจสินค้าอะไรอยู่ ลูกค้านี้เคยดูสินค้าอะไรบ้างในเว็บไซต์ของบริษัท และลูกค้านี้เคยสัมผัสหรือจับต้องสินค้าอะไรในร้าน สุดท้าย มันก็จะดีมากๆ ถ้าบริษัทมีระบบแนะนำพนักงานขายว่าเขาควรจะแนะนำสินค้าอะไรให้กับพนักงานคนนี้ด้วยโปรโมชั่นอะไร

นี่แหละที่จะบอกว่ามันต้องเป็นการผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างแท้จริง คลิปนี้จะทำให้เข้าใจมากขึ้นนะ https://goo.gl/134Pv7

นาวิก นำเสียง

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด

navik@sundae.co.th

กลยุทธ์การตลาดบนเฟซบุ๊คที่ไม่ควรพลาด (2)

            ต่อจากตอนที่แล้วที่เกริ่นแนะนำเทคนิคและเครื่องมือที่จำเป็นของกลยุทธ์การตลาดบนเฟซบุ๊คที่ประกอบไปด้วย

  • Facebook Video
  • Live Video
  • โพสเนื้อหาให้เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ

ฉบับนี้เรามาติดตามกันต่อกับเครื่องมือของเฟซบุ๊คที่ได้รับความนิยมและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเหนือสื่อออนไลน์อื่นๆ สำหรับปี พ.ศ. นี้

ใช้เฟซบุ๊คเพจเพื่อบริการลูกค้า

            เฟซบุ๊คเพจ (Facebook Page) ได้กลายเป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารกับลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งมีจำนวนผู้ชื่นชอบมากเท่าไร ลูกค้าก็ยิ่งใช้เป็นช่องทางในการขอรับบริการมาขึ้นเท่านั้น เพราะความสะดวกในการสื่อสาร

            จากงานวิจัยของ Forrester ในปี พ.ศ. 2559 พบว่าร้อยละ 53 ของผู้บริโภคจะเปลี่ยนใจไม่ซื้อสินค้าและบริการ หากไม่ได้รับการตอบคำถามได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการบริการจึงไม่ได้อยู่ที่การบริการหลังการขายเท่านั้น แต่การบริการจะเริ่มตั้งแต่ก่อนการขาย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยของการตัดสินใจซื้อสินค้า

            เฟซบุ๊คเพจจะมีบอกความรวดเร็วในการตอบคำถามด้วย ซึ่งบ่งบอกถึงมาตรฐานการให้บริการผ่านช่องทาง Facebook Messenger ด้วย

ผู้ชมที่คล้ายกัน (Lookalike Audience)

            ทุกวันนี้ความท้าทายของธุรกิจคือการลูกค้าใหม่ ลูกค้าใหม่ที่มีคุณภาพ มีโอกาสที่จะปิดการขายได้รวดเร็ว ดังนั้น ความสามารถในการสร้างลูกค้ามุ่งหวังที่คล้ายกันกับลูกค้าของคุณจึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจได้ เพียงแค่คุณจะต้องมีโปรไฟล์ลูกค้าของคุณเสียก่อน ซึ่งมาจากฐานข้อมูลจากระบบ CRM แล้วนำเข้าระบบของเฟซบุ๊ค หรือมาจากโปรไฟล์ของผู้ชื่นชมเพจของคุณก็ได้

            หลังจากนั้นคุณก็สามารถโฆษณาผ่านเฟซบุ๊คไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ชมที่คล้ายกันได้ วิธีนี้เราสามารถได้ลูกค้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าด้วยวิธีการลงโฆษณาแบบระบุโปรไฟล์ด้วยเสียอีก

สุดท้าย… แนะนำให้ใช้ Message Bots

            Message Bots เป็นเพลทฟอร์มของเฟซบุ๊คที่ช่วยสร้าง “บ็อท” เหมือนโปรแกรมให้พูดคุยกับลูกค้าได้ จะว่าไปก็เหมือนเราสนทนากับ Siri ของ iPhone ที่เราจะต้องกำหนดรูปแบบการโต้ตอบด้วย Send/Receive API

            ด้วยความสามารถของบ็อทนี้ ลูกค้าก็จะได้รับประสบการณ์ที่ดีด้วยการตอบคำถามได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญมันยังช่วยรับคำสั่งซื้อของคุณได้อีกด้วย เปรียบเสมือนมีพนักงานโต้ตอบการสนทนาแบบไม่จำกัดคนเลย

            เฟซบุ๊คเปิดเผยว่าขณะนี้มีบ็อทมากกว่า 100,000 บ็อทที่ใช้งานอยู่ขณะนี้ ส่วนใหญ่บ็อททำอะไรบ้าง

  • สร้างการรับรู้ของแบรนด์
  • หาลูกค้าใหม่
  • ปิดการขาย รับคำสั่งซื้อ
  • ให้บริการหลังการขาย

ด้วยบ็อทจะทำให้ซื้อขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ในอนาคต เฟซบุ๊คก็ออกแบบการเชื่อมต่อด้วย API ให้มีความชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น การนำ Big Data มาใช้จะทำให้บ็อทเป็นปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ที่มีประสิทธิภาพและช่วยธุรกิจได้อย่างแน่นอน

นาวิก นำเสียง

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด

Navik@sundae.co.th

กลยุทธ์การตลาดบนเฟซบุ๊คที่ไม่ควรพลาด (1)

            ในฐานะเครือข่ายสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Facebook นักการตลาดคงจะไม่พลาดที่จะวางกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ Facebook เป็นแน่ ที่จะช่วยเสริมสร้างแบรนด์และสร้างยอดขายให้กับธุรกิจมากขึ้น

            Facebook ไม่ใช่เพียงเครื่องมือที่ช่วยให้พวกเราสื่อสารซึ่งกันและกันเท่านั้น แต่มันยังช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงแบรนด์ต่างๆ ได้ และสามารถเป็นสื่อโฆษณาที่ทรงพลังไม่น้อยหน้าหรืออาจจะดีกว่าสื่อโฆษณาออนไลน์อื่นๆ ด้วยซ้ำ

            อย่างไรก็ตาม ด้วยความหลากหลายในความสามารถของ Facebook ก็มิได้หมายความว่าเราจะใช้ความสามารถเหล่านั้นให้ประสบความสำเร็จได้ทั้งหมด จริงแล้วมันจะมีเพียงไม่กี่เครื่องมือที่ได้รับความนิยมและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเหนือสื่อออนไลน์อื่นๆ ที่จะขอแนะนำต่อไปนี้

เริ่มต้นจาก Facebook Video

            มากกว่า 100 ล้านชั่วโมงของวิดีโอคลิปที่ถูกชมในแต่ละวันผ่าน Facebook ซึ่งไม่น้อยหน้าไปกว่า Youtube เลย แล้ววันนี้ Facebook Video กลายเป็นอีกหนึ่งสื่อที่ได้รับความนิยมอย่างมากบน Newsfeed จนสามารถสร้างรายได้โฆษณาให้กับ Facebook ได้มากขึ้น จึงไม่แปลกใจเลยที่แบรนด์ต่างๆ เลือกที่จะใช้ Facebook Video เป็นหนึ่งกลยุทธ์เนื้อหา

            แบรนด์ต่างๆ จะสร้างวิดีโอคลิปมากขึ้น เพราะแนวโน้มการชมวิดีโอผ่านโมบายมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น โดยอีกแนวโน้มที่เกิดขึ้นคือการชมวิดีโอโดยไม่เปิดเสียงแต่จะอ่านจากคำบรรยานแทนเสียง (Caption) แทน ดังนั้น วิดีโอของคุณควรจะมีคำบรรยายแทนเสียงเป็นทางเลือกด้วย

            อีกเทคนิคหนึ่งที่ไม่ควรพลาดก็คือต้องใช้เป็น Native Video ด้วย หมายความว่าคุณจะต้องอัพโหลดวิดีโอของคุณผ่าน Facebook ไม่ใช่ใช้วิดีโอที่อยู่ในแพลตฟอร์มอื่น เช่น Youtube แล้วโพสใน Facebook อีกที ด้วย Native Video คุณจะมีได้อัตราการแชร์ที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 1055 (1055%) เลยทีเดียว ดังนั้นถ้าคุณมีทั้ง Facebook Page และ Youtube Channel คุณก็จะต้องอัพโหลดแยกกันทั้งสองแพลตฟอร์ม

Live video

            เราชื่นชมในความสามารถของ Facebook Video กันไปแล้ว แต่ช้าก่อน เพราะ Live Video ของ Facebook มีความสามารถยิ่งกว่าอีก Live Video มีประสิทธิภาพที่สูงกว่า สามารถดึงให้ผู้ชมให้ชม Live Video ได้นานกว่า Facebook Video ถึง 3 เท่า ด้วยความเร็วของอินเตอร์เน็ต ผู้บริโภคก็สามารถรับชม Video Streaming ของ Live Video ได้ง่ายขึ้นโดยไม่มีอาการสะดุด

            Live video มีความสร้างสรรค์และให้ความเป็นกันเองได้มากกว่าวิดีโอปกติ สามารถสื่อสารกันแบบทันทีทันใดในขณะนั้นได้เลย เรียกว่า โต้ตอบกันได้แบบสดๆ เลยทีเลย เทคนิคใช้ ดารา เซเลบริตี้หรือคนดังเป็นตัวแทนของแบรนด์แล้วมาถ่ายทอดสดด้วย Live Video ก็ได้ความสนใจไม่น้อย สามารถดึงดูดผู้ชมได้เป็นอย่างดี อีกอย่างการเล่าเรื่องเป็นเรื่องราวหรือซีรีย์ก็ได้รับนิยมไม่ใช่น้อย

โพสเนื้อหาให้เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการ

            ทุกครั้งที่เราโพสเนื้อหานอกเหนือจากเราจะให้สาระความรู้กับผู้ชื่นชอบแล้ว บางครั้งเราควรจะนำเสนอสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่เราโพสด้วย เช่น ถ้าเรากำลังพูดถึงความสำคัญของการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) เราก็สามารถแนะนำสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับโซลูชั่น CRM ไปด้วย อย่างน้อย มันก็เป็นหนึ่งทางเลือกที่ให้ผู้ชื่นชมสามารถตัดสินใจใช้บริการจากเรา

            กลยุทธ์นี้ไม่ได้เป็นการขายของแบบ Hard sell เราไม่ได้ยัดเยียดเนื้อหาที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการของเราโดยตรง ดังนั้น ผู้อ่านยังสามารถช่วยแชร์เนื้อหาได้อีกด้วยและเพิ่มโอกาสให้เราสามารถขายสินค้าได้มากยิ่งขึ้น

            ฉบับหน้าจะมาดูความสามารถอื่นๆ ของ Facebook ที่ไม่ควรพลาดในปีพ.ศ. นี้

นาวิก นำเสียง

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด

Navik@sundae.co.th

โมบาย… ต้องมาก่อน

            หลายปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือที่เรียกว่าสมาร์ทโฟนหรือโมบายอย่างมาก ด้วยการใช้โมบายเพื่อท่องอินเตอร์เน็ตและแอปพลิเคชั่น มากกว่า 5.7 ชั่วโมงต่อวัน (ข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) 2015 Q4) หรือจะกล่าวกันง่ายๆ ว่าผู้บริโภคถือโมบายตลอดเวลา เพียงแต่ว่าจะใช้งานเมือไรเท่านั้นเอง

            ด้วยจำนวนโมบายที่เติบโตมากขึ้นและมากกว่าประชากรของโลก จึงเกิดคำถามขึ้นว่าแล้วนักการตลาดควรจะเข้าถึงผู้บริโภคผ่านโมบายอย่างไรดี กลยุทธ์ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า Mobile-first หรือ โมบายต้องมาก่อน นักการตลาดจะต้อง พัฒนาธุรกิจใหม่ด้วยโมบายควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี?

เราควรจะพัฒนาโมบายแอปพลิเคชั่น (Mobile Application) หรือ เว็บไซต์ที่รองกับโมบาย (Mobile-responsive site) ดี?

            จริงแล้วมันมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป ที่นักการตลาดควรจะต้องทราบ เพื่อการตัดสินใจแนวทางที่ถูกต้องในอนาคต

            ก่อนอื่น ธุรกิจต้องเข้าใจก่อนว่าธุรกรรมผ่านโมบาย หรือ mCommerce กำลังเติบโตและ… อย่างรวดเร็วด้วย จากรายงานของ Mobile Marketing Association ในปี 2553 ระบุว่า ร้อยละ 6 ของผู้บริโภคมีธุรกรรมซื้อขายสินค้าและบริการผ่านโมบาย โดยมีเพียงร้อยละ 6.5 ของธุรกิจที่สามารถทำธุรกรรมผ่านโมบายได้

แต่ในวันนี้ เรากำลังพูดถึงร้อยละ 50 ของผู้บริโภคมีธุรกรรมผ่านโมบายและมากกว่าร้อยละ 25 ของธุรกิจที่สามารถทำธุรกรรมผ่านโมบายได้ (รายงานจาก Criteo) ซึ่งจะเห็นว่าธุรกรรมผ่านโมบายได้เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นและคิดว่าอนาคตจะมาทดแทนธุรกรรมแบบเดิมได้ทั้งหมด ธุรกรรมการซื้อขายทั้งหมดจะผ่านโมบายอย่างเดียว

            เว็บไซต์ที่รองรับโมบายจะง่ายต่อการเข้าถึง เว็บไซต์ที่รองรับโมบายหมายถึงเว็บไซต์ปกติที่มีการแสดงเนื้อหาให้อ่านได้ง่ายบนหน้าจอโมบายที่มีขนาดเล็กและแคบกว่าหน้าจอคอมพิวเตอร์ เรียกกันว่า การออกแบบเว็บไซต์ให้เป็น Responsive ซึ่งการลงทุนจะต่ำกว่าการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชั่นมาก ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายเหมือนกับเว็บไซต์ปกติ โดยไม่ต้องดาวน์โหลดและติดตั้งเหมือนโมบายแอปพลิเคชั่น ที่สำคัญ มันยังช่วยให้ SEO ดีขึ้นด้วย เพิ่มผู้เข้าชมด้วยเสิร์ชเอ็นจิ้นมากขึ้น

            เราต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคมากกว่าร้อยละ 60 ยังค้นหาข้อมูลทั้งสินค้าและบริการ รวมไปถึงราคา คุณสมบัติและอื่นๆ ผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้น ดังนั้น เว็บไซต์ที่รองรับโมบายจริงมีความสำคัญอย่างมาก คุณจะต้องพัฒนาเว็บไซต์ของคุณให้รองรับโมบายด้วย ง่ายๆ เพียงแค่คุณลองเข้าเว็บไซต์ของคุณผ่านโมบายแล้วคุณยังสามารถอ่านได้โดยไม่ต้องซูมและรำคาญมั้ย การออกแบบให้สนับสนุนโมบายจะช่วยให้โอกาสแปลงเป็นลูกค้ามากยิ่งขึ้น ลดการสูญเสียลูกค้าของคุณได้มาก

            ดังนั้น เว็บไซต์ที่รองรับโมบายจึงสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างมาก เพราะเว็บไซต์ถือเป็นหนึ่งช่องทางติดต่อกับลูกค้าที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

            แต่ช้าก่อน โมบายแอปพลิเคชั่นสามารถสร้างความผูกพันกับลูกค้าได้ดี ลูกค้าที่จงรักภักดีจะยินดีและชอบที่จะใช้แอปพลิเคชั่นมากกว่า ในความเป็นจริงแล้ว โมบายแอปพลิเคชั่นสามารถเข้าถึงได้เร็วกว่า มีหน้าจอที่ง่ายต่อการใช้งานกว่า สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้มากกว่า เมือเทียบกับเว็บไซต์ที่รองรับโมบาย โมบายแอปพลิเคชั่นยังสามารถรองกับการใช้งานแบบ Offline ที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตได้อีกด้วย เพียงแค่ผู้บริโภคจะต้องดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชั่นก่อนเท่านั้น นี่คืออุปสรรคใหญ่ แต่สำหรับลูกค้าที่จงรักภักดีต่อแบรนด์ของคุณ เรื่องนี้คงจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่แน่นอน

โมบายเป็นอุปกรณ์ที่ใกล้ตัวผู้บริโภคที่ธุรกิจสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด โมบายช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าเป็นอย่างมากจนนำไปสู่ธุรกรรมการซื้อขายในที่สุด ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องมีกลยุทธ์การตลาดผ่านโมบายที่ชัดเจน ด้วยการกำหนดเส้นทางของผู้บริโภค (Customer Journey) ที่จะเข้าถึงแบรนด์ของคุณ เช่น ลูกค้าใหม่ค้นหาแบรนด์ของคุณผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้นแล้วมายังเว็บไซต์ของคุณ คุณต้องออกแบบเว็บไซต์ที่รองรับโมบายด้วย

สำหรับลูกค้าที่จงรักภักดีกับแบรนด์ของคุณแล้ว คุณก็ต้องตัดสินใจว่าคุณควรจะพัฒนาเว็บไซต์ให้มีการใช้งานที่เป็นส่วนบุคคล (Personalization) มากขึ้น เพื่อจูงใจให้เกิดการซื้อเพิ่ม แล้วตัดสินใจต่อว่าจำเป็นมั้ยที่จะต้องพัฒนาโมบายแอปพลิเคชั่นที่สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าในอีกระดับหนึ่ง

นาวิก นำเสียง

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด

navik@sundae.co.th

นักการตลาดยุคดิจิตอลควรรู้ในปี พ.ศ. 2560?

            วันนี้การตลาดได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเมือเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา แล้วการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะรวดเร็วมายิ่งขึ้น นักการตลาดที่ไม่ได้ติดตามแนวโน้มกลยุทธ์และเทคโนโลยีใหม่ ก็อาจจะตามไม่ทันก็ได้ ซึ่งหมายถึงกระทบต่อธุรกิจของคุณนั้นเอง

            โดยทั่วไปแล้ว พื้นฐานการนำการตลาดออนไลน์ที่นำมาใช้ก็คงไม่ได้แตกต่างกันมากในหลักการ ตั้งแต่การสร้างการรับรู้ การสร้างความผูกพันธ์กับลูกค้า การแปลงจากผู้สนใจเป็นลูกค้า การรักษาลูกค้า และสุดท้ายการสร้างลูกค้าที่จงรักภักดี ด้วยการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของลูกค้ายุคดิจิตอลทำให้การเทคโนโลยีมีบทบาทอย่างมากที่นักการตลาดควรจะต้องรู้และติดตามอย่างใกล้ชิด

SEO กลยุทธ์เสริช์เอ็นจิ้น

            เสริช์เอ็นจิ้นหลักก็ยังคงเป็น Google และ Google ก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดอันดับของการแสดงผลจากการค้นหามาโดยตลอด โดยระยะหลัง Google ให้ความสำคัญกับการนำเสนอหน้าเว็บไซต์ในรูปแบบมือถือเป็นอย่างมากและต้องการเพิ่มประสิทธิภาพของการนำเสนอที่ดีขึ้นรวดเร็วมากขึ้น ด้วยการนำเสนอการพัฒนาเว็บไซต์ใหม่ที่เรียกว่า AMP (Accelerated Mobile Pages) ให้กับนักพัฒนาเว็บไซต์ ดังนั้น นอกจากความสัมพันธ์ของคีย์เวิร์ดแล้ว นักการตลาดจะต้องเข้าเรื่อง AMP และให้ความสำคัญกับหัวข้อ รูปภาพและเนื้อหาที่เป็นย่อหน้าแรกที่ปรากฎ ลองดูตัวอย่างของการนำเสนอเว็บไซต์นี้ www.mashable.com ผ่านมือถือ

            นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ สำหรับกลยุทธ์เสิร์ชเอ็นจิ้น เช่น ลิงค์ เนื้อหา รูปภาพ ความเร็วการนำเสนอ เป็นต้น ก็ยังมีความจำเป็นอยู่ ที่นักการตลาดจะต้องศึกษาและเข้าใจด้วยเช่นกัน

สื่อสังคมออนไลน์

            สื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook, Instagram เป็นต้น ยังมีความสำคัญอยู่ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ด้วยค่าใช้จ่ายโฆษณาที่ไม่สูงและยังสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม มันจะยากมากขึ้นที่จะสร้างความผูกพันธ์กับลูกค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การซื้อสื่อโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เราจะต้องเข้าใจการลงโฆษณาแบบ Remarketing และการใช้ตำแหน่ง (Location based) มากขึ้นเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

            วิดีโอจะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในปีนี้ ดังนั้น ติดตามความเคลื่อนไหวและเทคนิคการใช้ Facebook Live VDO ให้ดี เพราะวันนี้มากกว่า 100 ล้านชั่วโมงต่อวันที่มีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ชมได้เป็นอย่างดี

ประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้ผ่านเว็บไซต์และสื่อดิจิตอล

            ปีนี้ นักการตลาดจะต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์และสื่อดิจิตอลต่างๆ เช่น โมบายแอปพลิเคชั่น เป็นต้น มากยิ่งขึ้น เราจะต้องออกแบบเว็บไซต์หรือสื่อดิจิตอลให้แต่ละองค์ประกอบสามารถคลิกได้และไปยังเป้าหมายที่เราต้องการได้ การใช้วิเคราะห์เส้นทางการใช้งานจะช่วยให้เราออกแบบได้ดียิ่งขึ้น

            การใช้ Google Analytics ก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่นักการตลาดจะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งเช่นกัน เพราะมันสามารถวิเคราะห์ประสบการณ์ของผู้ใช้จนไปถึงการได้มาของรายได้ จนในที่สุด เราสามารถใช้ Google Analytics ในการเพิ่มรายได้ผ่านสื่อดิจิตอล

            การทดสอบประสิทธิภาพของเว็บไซต์ด้วยการเปรียบเทียบ (A/B Testing) ผ่านซอฟ์ตแวร์ เช่น VWO เป็นต้น ก็จะช่วยให้นักการตลาดสามารถวิเคราะห์การออกแบบเว็บไซต์ได้ด้วยตัวเลขที่วัดได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ชม จำนวนคลิก หรือการแปลงเป็นรายได้ เพื่อที่จะหาปัจจัยในการออกแบบเว็บไซต์ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

นาวิก นำเสียง

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด

navik@sundae.co.th